เงินเดือนเท่าไหร่ ? จึงจะต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดา
เงินเดือนเท่าไหร่? ถึงจะต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดา ......
ฐานภาษี เป็นสิ่งสำคัญ ที่มนุษย์เงินเดือน หรือเด็กจบใหม่ ควรต้องรู้ เพื่อที่จะได้วางแผนการบริหารภาษี เพราะทุกปี มนุษย์เงินเดือนจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จากการปรับเงินเดือน หรือผลตอบแทนในรูปแบบอื่น ซึ่งเมื่อเงินเดือนถึงระดับเกณฑ์ของฐานภาษีแต่ละช่วง จะส่งผลให้ต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้น หากเรามีการวางแผนภาษีที่ดี ก็จะช่วยให้เราสามารถประหยัดภาษี และมีเหลือเงินไปออมหรือลงทุนให้เงินงอกเงยได้มากขึ้น
แล้วรายได้เท่าไร จึงจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลองมาดูวิธีการคำนวณกัน
หากบุคคลธรรมดานั้น มีเงินได้สุทธิ ไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
แต่จะรู้ได้ยังไงว่า เงินได้สุทธินั้น ไม่เกิน 150,000 บาท
โดยมี สูตรการคำนวณ หาเงินได้สุทธิ ดังนี้
รายได้ (ตลอดทั้งปี) ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
รายได้ หมายถึง รายรับจากงานประจำลบด้วยค่าใช้จ่ายของรายได้จากงานประจำได้ 50 % แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ลบด้วยค่าลดหย่อนส่วนตัว คนละ 60,000 บาท (กรณีที่ไม่มีสิทธิในค่าลดหย่อนอื่นๆ เพิ่มเติม) = เงินได้สุทธิ
ผู้ที่มีรายได้จากงานประจำหรือเงินเดือนเพียงทางเดียว และมีรายได้ตลอดทั้งปี ไม่เกิน 120,000 บาท ไม่จำเป็นที่ต้องยื่นภาษีเงินได้
ดังนั้น สำหรับผู้มี รายได้น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ไม่จำเป็น ต้องยื่นภาษีหรือเสียภาษี
ผู้ที่มีรายได้จากงานประจำหรือเงินเดือนเพียงทางเดียว และมีรายได้ตลอดทั้งปี เกิน 120,000 บาท แต่คำนวณเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่เสียภาษี
ดังนั้น สำหรับผู้มีรายได้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 26,583.33 บาท ต่อเดือน ต้องยื่น ภาษี แต่ไม่เสียภาษี
และสำหรับ ผู้ที่มีรายได้จากงานประจำหรือเงินเดือนเพียงทางเดียว และมีรายได้ตลอดทั้งปี เกิน 120,000 บาท และคำนวณเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท ต้องยื่นภาษีและเสียภาษี
ซึ่งหากคำนวณแบบง่ายๆ ผู้มีรายได้มากกว่า 26,583.33 บาท ต่อเดือน และไม่มีรายการลดหย่อนใดๆ ต้องยื่นภาษีและเสียภาษี ส่วนการที่จะเสียภาษีเท่าไหร่นั้น ติดตามอ่านเรื่องการคำนวณได้ในบทความต่อไป