กระแสเงินสด หัวใจสำคัญของธุรกิจ SME ที่ช่วยให้เติบโตอย่างมั่นคง
กระแสเงินสด: หัวใจสำคัญของธุรกิจ SME ที่อยากเติบโตอย่างมั่นคง
ปัจจัยที่สำคัญ ที่ทำให้ SME อยู่รอดและช่วยให้ธุรกิจเติบโต คือ การบริหารกระแสเงินสด หรือ Cash Flow Management
หลายธุรกิจมียอดขายดี กำไรทางบัญชีสูง แต่สุดท้ายกลับประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง หมุนเงินไม่ทัน จ่ายเงินเดือนพนักงานจรงเวลา หรือสต๊อกของไว้ขาย แต่ไม่มีเงินไปหมุนเวียนกับกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจาก ขาดการดูแลด้านกระแสเงินสด
บทความนี้จึงอยากชวนเจ้าของกิจการ SME มาทำความเข้าใจพื้นฐานของกระแสเงินสด พร้อมตัวอย่างง่าย ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที
ทำไม การบริหารกระแสเงินสด ถึงสำคัญกับธุรกิจ SME ?
กระแสเงินสด คือ การเคลื่อนไหวของเงินสดเข้าและออกจากกิจการในช่วงเวลาหนึ่ง การที่ธุรกิจมีกระแสเงินสดเป็นบวก หมายถึง มีเงินเหลือใช้ ธุรกิจจึงดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
ตัวอย่างเช่น :
คุณนิดเปิดร้านเบเกอรี่เล็ก ๆ ในเชียงใหม่ ขายดีมาก กำไรเดือนละ 50,000 บาท แต่ลูกค้าหลายคนจ่ายเงินปลายเดือน ขณะที่คุณนิดต้องจ่ายค่าวัตถุดิบและเงินเดือนพนักงานต้นเดือน ทำให้ต้องไปกู้ยืมเพื่อนำมาหมุน ทั้งที่มีกำไรอยู่แล้ว นี่คือตัวอย่างของ กำไรมีก็จริง แต่เงินสดไม่มี ซึ่งส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน
มารู้จักประเภทของกระแสเงินสดกัน ในทางบัญชี กระแสเงินสดจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ที่เจ้าของกิจการควรเข้าใจ:
1. กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Operating Cash Flow หรือ CFO)
เป็นกระแสเงินสดที่เกี่ยวข้องกับการขายของและดำเนินกิจการ เช่น รายได้จากการขาย การจ่ายเงินเดือน การซื้อวัตถุดิบ ฯลฯ
ตัวอย่าง:
ร้านกาแฟ A ขายกาแฟได้วันละ 5,000 บาท มีรายจ่ายซื้อเมล็ดกาแฟและจ่ายพนักงานวันละ 3,500 บาท
=> กระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน = +1,500 บาท/วัน
ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี
ดังนั้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานควร เป็นบวก สม่ำเสมอ เพื่อให้กิจการหมุนเวียนได้ต่อเนื่อง
2. กระแสเงินสดจากการลงทุน (Investing Cash Flow หรือ CFI)
เป็นเงินสดที่ใช้ไปหรือได้รับจากการซื้อ/ขายทรัพย์สิน เช่น อุปกรณ์ เครื่องจักร ที่ดิน ฯลฯ
ตัวอย่าง:
บริษัทผลิตเสื้อผ้า B ซื้อจักรเย็บผ้าใหม่ 3 เครื่อง ราคา 150,000 บาท
=> กระแสเงินสดจากการลงทุน = -150,000 บาท
แม้ติดลบ แต่เป็นเรื่องดี เพราะลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต
กระแสเงินสดส่วนนี้ ติดลบ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล ถ้าเป็นการลงทุนเพื่อขยายกิจการ
3. กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน (Financing Cash Flow หรือ CFF)
เกี่ยวกับการกู้ยืม การคืนเงินกู้ การเพิ่มทุน หรือการจ่ายเงินปันผล
ตัวอย่าง:
ร้านอาหาร C กู้เงินจากธนาคารมา 300,000 บาท เพื่อปรับปรุงร้าน
และทยอยจ่ายคืนธนาคารเดือนละ 10,000 บาท
=> กระแสเงินสดรับจากการจัดหาเงิน = +300,000 บาท
=> กระแสเงินสดจ่ายเพื่อชำระหนี้ = -10,000 บาท/เดือน
กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน ควรใช้เพื่อเสริมสภาพคล่องในระยะสั้น หรือใช้ลงทุนอย่างมีแผน ไม่ควรกู้มาเพื่อหมุนค่าใช้จ่ายประจำจนเป็นนิสัย
วิธีวิเคราะห์กระแสเงินสดเบื้องต้น ธุรกิจสามารถจัดทำงบกระแสเงินสดได้ 2 วิธี:
วิธีที่ 1: ทางตรง
แสดงรายการรับ-จ่ายเงินสดจริง เช่น
รับจากลูกค้า 150,000 บาท
จ่ายค่าเช่าและค่าวัตถุดิบ 100,000 บาท
=> กระแสเงินสดสุทธิ = +50,000 บาท
วิธีที่ 2: ทางอ้อม
เริ่มจากกำไรสุทธิ แล้วปรับด้วยรายการที่ไม่ใช่เงินสด เช่น ค่าเสื่อมราคา หรือการเปลี่ยนแปลงของลูกหนี้-เจ้าหนี้
สำหรับ SME ขอแนะนำให้เริ่มจาก ทางตรง เพราะเข้าใจง่าย และใช้ร่วมกับการดูรายรับรายจ่ายประจำเดือนได้ทันที
ลักษณะของ งบกระแสเงินสดที่ดี สำหรับ SME
เงินสดจากการดำเนินงานต้องเป็นบวก หมายถึง ธุรกิจสามารถหาเงินจากการทำงานจริง ไม่ต้องพึ่งการกู้ตลอดเวลา
เงินสดปลายงวดเพิ่มขึ้นหรือคงที่ แสดงว่าสามารถควบคุมการใช้จ่ายได้ดี
การลงทุนสอดคล้องกับศักยภาพธุรกิจ อย่าลงทุนใหญ่เกินกำลังจนเกิดภาระหนี้ที่สูงจนเกินไป
หนี้สินไม่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ เพราะหากต้องชำระหนี้เกินศักยภาพ อาจส่งผลให้ขาดสภาพคล่อง
สรุปสำหรับเจ้าของกิจการ SME:
กระแสเงินสดคือ กระจกสะท้อนความเป็นจริงทางการเงินของธุรกิจ แม้จะมีกำไรทางบัญชี แต่ถ้าเงินสดไม่พอจ่ายค่าใช้จ่ายประจำเพื่อดำเนินธุรกิจ ธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้ และส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของคู่ค้าได้
การจัดทำงบกระแสเงินสด ไม่ใช่เรื่องของ นักบัญชี เท่านั้น แต่เป็น เครื่องมือบริหารธุรกิจ ที่เจ้าของกิจการทุกคนควรเข้าใจ เพื่อวางแผนล่วงหน้า ตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบ และประคองธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
หากคุณยังไม่แน่ใจว่า งบกระแสเงินสดของธุรกิจคุณแข็งแรงแค่ไหน ลองปรึกษานักบัญชี หรือที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อช่วยวิเคราะห์ร่วมกันนะครับ